02 กุมภาพันธ์ 2559

ไขกลไกแหวนปูของลุงหยี จันทบุรี


ไขกลไกแหวนปูของลุงหยี ช่างทองบ้านบางกะจะ
แหวนปู เป็นเครื่องประดับที่ซ่อนปริศนากลไกไว้บนนิ้วของผู้สวมใส่ ถ้าเรือนแหวนทั้ง 4 ยังคล้องเกี่ยวกันอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ปริศนานั้นก็ยังคงเก็บงำซ่อนเงื่อนไว้บนเรือนแหวนรูปปูทะเลที่คงเอกลักษณ์สวยงาม หากวงแหวนแยกเรือนส่วนกระดองปู เรือนส่วนก้าม เรือนส่วนขากรรเชียงปู และเรือนส่วนตุ่ม (เป็นองค์ประกอบของเรือนแหวนไม่ใช่ส่วนประกอบของปู) ออกจากกันคราใด ปริศนาที่ท้าทายคือการประกอบเรือนแหวนทั้ง 4 ส่วนนั้นเข้าเป็นวงเดียวกันได้อย่างไร ลุงหยี ช่างทองต้นเรื่องของแหวนปูแห่งบ้านบางกะจะเคยกล่าวไว้ว่า “หาทางใส่จนเถรอดเพลเลยล่ะ”
ลุงหยี หรือ ฮอกหยี แซ่โง้ว มีนามไทยว่า เสนาะ เจียรณัย รับช่วงอาชีพช่างทองจะมาจากนายกั๊ก ผู้เป็นบิดาและเป็นช่างทองประจำหมู่บ้านบางกะจะ “คุณพ่อรับช่วงช่างทองของตระกูลมาจากคุณปู่กั๊ก แต่ไม่ทราบว่าคุณปู่จะรับช่วงต่อมาจากคุณทวดหลายหรือเปล่า” ราตรี เจียรณัย อดีตอาจารย์โรงเรียนสายปัญญา วัย 74 ปี บุตรสาวคนที่ 3 และเป็นบุตรลำดับที่ 7 จากทั้งหมด 10 คนของลุงหยีเริ่มต้นเล่าเรื่องราวครั้งหลัง “บรรพบุรุษของเราเป็นคนจีนฮกเกี้ยนเดินทางมาจากเมืองจีนมาตั้งรกรากอยู่ที่บางกะจะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีหลักฐานอักษรจีนโบราณสลักบนแผ่นหินหน้าสุสานของบรรพบุรุษ คนจีนฮกเกี้ยนจะเชี่ยวชาญการเดินเรือและการประมง แต่ไม่ทราบว่าคนรุ่นคุณปู่ทวดขึ้นไปจะเป็นช่างทองมาจากเมืองจีนหรือมาศึกษาวิชาช่างทองที่เมืองไทย”
ช่างเสนาะหรือลุงหยี กำเนิดเมื่อ 26 มกราคม พ.ศ. 2448 เป็นบุตรชายคนที่ 4 และเป็นน้องรองสุดท้ายจากทั้งหมด 9 คนของปู่กั๊กกับคุณย่าขำ แต่พี่ชายลำดับที่ 6 ถึงแก่กรรมในวัยเยาว์ ปู่กั๊กจึงเหลือบุตรชาย 3 คน และเห็นแววความเฉลียวฉลาดของลุงหยีจึงถ่ายทอดการทำทองด้วยมือให้เป็นสัมมาชีพติดตัว
“พ่อเรียนจบแค่ประถม 3 ก็มาเป็นลูกมือช่วยปู่กั๊กทำทองตั้งแต่อายุ 15 ปี แถวบางกะจะมีบ้านปู่กั๊กบ้านเดียวที่เป็นช่างทอง มีลูกค้ามาจ้างให้ทำอยู่ไม่ขาด ส่วนลูกชายของปู่กั๊กอีก 2 คนก็ไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ และได้เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา 1 คน และเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 1 คน” ป้าย้อม วัย 88 ปีหรือทองย้อม บุตรสาวคนโตและเป็นบุตรลำดับที่ 2 ของช่างเสนาะ ผู้ทำหน้าที่ช่วยเลี้ยงน้องๆ และช่วยงานพ่อแม่อยู่ที่บ้านบางกะจะตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันรำลึกความทรงจำให้ฟัง เมื่อปู่กั๊กถึงแก่กรรม ลุงหยีก็สืบทอดช่างทำทองของตระกูลแต่นั้นมา และได้สร้างครอบครัวกับสาวบ้านใกล้เรือนเคียง
“คุณแม่ปลาเพียร เป็นลูกกำพร้าจากบ้านแหลมสิงห์มาอยู่กับญาติที่บางกะจะ บ้านอยู่ใกล้กันกับบ้านคุณพ่อ จึงชอบพอและแต่งงานกัน คุณพ่อก็ถ่ายทอดวิชาช่างทองให้คุณแม่ด้วย สมัยนั้นราคาทองอยู่ที่หลักร้อยไม่เกินบาทละ 400 คุณแม่จะชำนาญทำสร้อยคอ สร้อยข้อมือ คุณพ่อจะทำงานยากๆ แต่ฝีมือประณีต ละเอียด สวยงามเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ที่มาสั่งทำ คุณพ่อคุณแม่ยึดอาชีพช่างทำทองเลี้ยงครอบครัว ดูส่งเสียลูกๆ ทั้ง 10 คนได้เล่าเรียนหนังสือมีงานการทำกัน” สมศรี อดีตลูกจ้างประจำ กรมชลประทาน ในวัย 70 ปี บุตรสาวคนที่ 4 ของลุงหยีขยายความถึงฝ่ายมารดา
แม้ฝีมือช่างทองของลุงหยีจะเป็นที่ขึ้นชื่อในย่านบางกะจะแต่ชีวิตครอบครัวก็ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2488 เมื่อลุงหยีอายุได้ 40 ปี “มีผู้ชายสูงอายุนำแหวนทองรูปปูมาให้พ่อดูแล้วถามว่าทำได้ไหม ถ้าทำได้ช่วยทำให้หน่อย” ป้าย้อมเล่าเหตุการณ์ย้อนหลังเมื่อเธอเข้าวัยสาวสะพรั่ง “แหวนนั้นเป็นวงคล้องกันอยู่ 4 วง ประกอบกันเป็นรูปปู พ่อเอามาถอดเข้า ถอดออกศึกษากลไกอยู่เป็นอาทิตย์ นั่งพิจารณาดูว่าทำอย่างไรจนเข้าใจ จึงลงมือทำอยู่ 10 กว่าวันแล้วก็ทำสำเร็จออกมาสวยงามกว่าของต้นแบบเสียอีก”
ลุงหยีเรียกแหวนปูที่เฝ้าพินิจพิเคราะห์และทำจนสำเร็จนั้นว่า “แหวนกล” เพราะต้องรู้วิธีประกอบให้รวมเป็นวงเรือนเดียวกัน มิฉะนั้นต้องเสียเวลาหาหนทางประกอบให้ได้เหมือน “เถรอดฉันเพล” เครื่องเล่นโบราณ
“ลูกๆ 9 คนจะไปเรียนอยู่กรุงเทพฯ ปิดเทอมก็จะกลับมาที่บ้าน คุณพ่อจะเล่าให้ลูกๆ ฟังเรื่องการทำแหวนทอง แหวนปูต้นแบบนั้นน่าจะมาจากทางเขมร แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าต้นกำเนิดจริงๆ คือที่ไหน คุณพ่อรู้แค่นั้น อารามดีใจที่ทำได้จึงลืมถามไถ่คนที่นำมาจ้างวาน หลังจากนั้นคุณพ่อก็ทำแหวนปูขึ้นมาอีก โดยปรับปรุงรูปแบบให้สวยงามมากขึ้น 
พอคนรู้ข่าวว่าเป็นแหวนกลที่ต้องใช้ปัญญาในการประกอบเข้าเป็นวงเรือนก็มาขอดูและสั่งทำกันเรื่อยๆ และคุณพ่อก็พัฒนาเป็นแหวนกบอีกแบบหนึ่ง จนเป็นที่นิยมของคนเมืองจันท์และโด่งดังไปถึงกรุงเทพฯ มีคนจากกรุงเทพฯ มาสั่งทำอยู่เสมอ และครอบครัวเราถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดคือคุณพ่อได้ทำแหวนปูถวายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีคราวเสด็จมาโรงก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบ้านบางกะจะ” อาจารย์ราตรีรำลึกเหตุการณ์จากความทรงจำ
ในบรรดาบุตรหญิงชายของนายเสนาะไม่มีใครคิดสืบทอดวิชาช่างทองจากบิดาเลย “มีพี่ชายคนโตและน้องชายคนสุดท้องที่เคยหัดทำ แต่ไม่สวยงามเท่างานของพ่อ ส่วนฉันก็ทำได้แค่ก้านเดียวคือส่วนขา 4 ขา ทำส่วนอื่นๆ ไม่สำเร็จ มันเป็นงานที่ยาก รายละเอียดมันเยอะ ในที่สุดก็เลิกรากันไป เพราะทุกคนก็ไปทำงานอย่างอื่นกันหมด 
ลูกๆ ทั้ง 10 คนเคยเป็นแค่ลูกมือของพ่อแม่ช่วยหยิบจับเท่านั้น” ป้าย้อมเล่าด้วยความเสียดาย “คือในสมัยนั้นลูกๆ เห็นพ่อแม่นั่งทำงานด้วยสมาธิ ใช้สายตามาก ต้องเพ่งทำงานชิ้นเล็กๆ อดทน ใจเย็น พวกลูกๆ จึงไม่มีใครอยากมาทำอาชีพนี้ พ่อก็ไม่ว่าอะไร ท่านเข้าใจลูกๆ แต่จะชอบเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาให้ลูกๆ ฟังเสมอ” แม้ทายาทไม่ได้สืบทอดการทำแหวนปูจากลุงหยี แต่มีช่างทองจากบ้านอื่นสนใจและนำไปต่อยอดจนประสบความสำเร็จ สมศรีได้เผยความรู้สึกไว้ว่า
“คุณพ่อเล่าว่ามีช่างทองในเมืองจันท์มาซื้อแหวนปูแล้วไปศึกษา และกลับมาขอความรู้ คุณพ่อก็แนะนำไปไม่ปิดบัง ด้วยพื้นฐานของช่างทองที่มีความรู้อยู่เป็นทุนเดิม จึงไม่ยากอะไรที่เขาจะไปทำต่อได้ มาถึงวันนี้ก็มีแหวนปู แหวนปลา แหวนรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ครอบครัวเราก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะลูกหลานลุงหยีไม่คิดจะสืบทอด เมื่อมีการพัฒนาไป เราก็รู้สึกภูมิใจ เพราะพื้นฐานนั้นก็มาจากลุงหยีช่างทองบ้านบางกะจะที่ได้เคยสร้างงานเป็นจุดเริ่มต้นไว้”
แหวนปูได้รับยกย่องว่าทรงคุณค่าของงานหัตถศิลป์ ประดิษฐ์ด้วยมือของช่างทองพื้นบ้านจันทบุรี มีความประณีต ละเอียดและสวยงาม อีกทั้งยังซ่อนปริศนาแฝงไว้ให้ขบคิดหาวิธีการประกบ 4 วงเข้าเป็นเรือนเดียวกัน แม้วันนี้ลุงหยี บุคคลต้นเรื่องได้จากไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2540 ในวัย 93 ปี แหวนกลที่ทำด้วยสองมือของลุงหยี หรือช่างเสนาะ เจียรณัย นั้นนับได้คงเหลือน้อยชิ้น เนื่องด้วยสองมือนั้นได้หยุดสงบนิ่งมาเนิ่นนาน 20 ปีผ่านพ้น ทิ้งไว้เพียงมรดกแหวนกลและเรื่องเล่าขานเป็นตำนานช่างทองฝีมือดีของบ้านบางกะจะด้วยเสียงกระซิบแผ่วเบากับสายลมที่พัดผ่านไป

รูปภาพและที่มาดีๆจาก
เฟสบุ๊ค ปราณ ปรีชญา
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1699125066996343&id=100006965987363

ckgem4u ©Blogเล็กๆของคนตัวน้อยๆ จ้าวน้อย. มีชีวิต..ก็ต้องเดินไปให้สุดทาง..รักนะ..ตุ๊บๆ..

ขึ้นด้านบนจ้า