ทับทิมเป็นอัญมณีสีแดงที่มหาราชาแห่งอินเดีย ชาห์แห่งเปอร์เซีย สุลต่านแห่งตุรกีนิยมมีไว้ในครอบครอง เพราะผู้คนเชื่อว่า มันคือสัญลักษณ์ที่แสดงอำนาจและความมั่งคั่ง อนึ่ง การมีความสวยงาม ความคงทนและความเป็นของหายาก ได้ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกผูกพันกับทับทิมมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ทุกวันนี้ เราถือว่าทับทิมคืออัญมณีประจำเดือนกรกฎาคมในราศีสิงห์ และเป็นรัตนชาติที่เหมาะจะ ให้เป็นของขวัญในวันครบรอบแต่งงาน 15 และ 40 ปี คำว่า ทับทิม ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ruby และคำละตินว่า ruber ซึ่งแปลว่า แดง ส่วนใน ภาษาสันสกฤตนั้น ทับทิมคือ ratnaraj ซึ่งแปลว่า รัตน์แห่งพระราชา
ผู้คนตะวันตกรู้จักทับทิมเป็นครั้งแรกจากการอ่านคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งได้เปรียบความงามของสตรีว่า มีค่าเยี่ยงทับทิม ส่วนคนยิวเชื่อว่าทับทิมคืออัญมณีหนึ่งใน 12 ชนิด ที่พระเจ้าทรงสร้างประดับโลก ในตำราอัญมณีที่ปราชญ์กรีกชื่อ Theophrastus ได้เขียนขึ้น เมื่อ 2,315 ปีก่อนนี้ ได้มีการกล่าว ถึงทับทิมเช่นกัน หรือแม้แต่ Pliny นักประพันธ์โรมันก็ได้เคยเขียนเกณฑ์การจำแนกคุณภาพของ ทับทิมในหนังสือ Natural History เมื่อ 1,900 ปีมาแล้ว ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า Pliny คือ นักอัญมณีศาสตร์คนแรกของโลก
ส่วนคนตะวันออกก็ได้รู้จักทับทิมมาตั้งแต่สมัยโบราณเช่นกัน ตำนานในศาสนาฮินดูเล่าว่า ใครใดที่นำทับทิมถวายแด่องค์เทพกฤษณะ ความปรารถนาของเขาจะสัมฤทธิผล และถ้าทับทิมที่นำถวายมีคุณภาพดีมาก เขาก็จะเกิดใหม่เป็นจักรพรรดิในชาติหน้า แต่ถ้าทับทิมมี คุณภาพไม่สู้ดีนัก เขาก็เป็นได้แค่พระราชา สำหรับคนอินเดียที่ไม่ได้รับการศึกษาสูงมักเชื่อว่า เมื่อแรกเริ่มทับทิมไม่มีสี แต่วันเวลาที่ผ่าน ไปจะทำให้ทับทิมมีสีสุกใส ดังนั้น ทับทิมเม็ดใดที่มีสีชมพูแสดงว่า มันยังสุกไม่พอ จึงจะต้องถูกนำไปฝังดินอีก ส่วนทับทิมเม็ดใดที่มีสี แดงเกินไปก็แสดงว่า ได้สุกงอมเต็มที่แล้ว และคนพม่านั้นมักเชื่อว่า ทับทิมคือศิลาวิเศษ ที่นอกจากจะสามารถทำให้ความฝันและตัณหา ของเจ้าของเป็นจริงแล้ว มันยังทำให้เจ้าของมีเสน่ห์ มีความสุขและมีสุขภาพดีด้วย
เมื่อนักผจญภัยชื่อ Marco Polo เดินทางไปเยือนจีน โดยผ่านประเทศอินเดียเขาได้รายงานการเห็นทับทิมเม็ดขนาดใหญ่เท่าไข่ไก่ การได้ยินได้ฟังข่าวทำนองนี้ได้ทำให้ชาวยุโรปยุคนั้นกระหายจะได้อัญมณีทุกชนิดที่ชาวตะวันออกมี และเมื่อชาวตะวันออกกระจายข่าวว่า ทับทิมสามารถทำให้เลือดลมของคนที่มีมันในครอบครองลื่นไหล จิตใจสะอาดแจ่มใส สมองปราดเปรื่อง สุขภาพดี มีโชค ทั้งในด้านการ พนันและความรัก ชาวตะวันตกก็เริ่มกระบวนการล่าอาณานิคมปล้นชาติของชาวตะวันออกทันที
แต่เมื่อชาวยุโรปได้ครอบครองทับทิม ในบางกรณีทับทิมกลับนำโชคร้ายและความตายมาสู่เจ้าของ เช่น ในวันที่พระมเหสีองค์แรกของ พระเจ้า Henry ที่ 8 แห่งอังกฤษ จะทรงถูกสำเร็จโทษ พระธำมรงค์ทับทิมของพระนางปรากฏสีหมองหม่น เป็นต้น
ทุกวันนี้ นักอัญมณียอมรับว่าทับทิมที่ดีมีพบมากในเอเชีย โดยเฉพาะ พม่า เพราะทับทิมที่เมือง Mogok ในพม่าคือทับทิมที่ดีที่สุดในโลก และเมือง Mogok ปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์กลางการขุดและค้าทับทิม ที่ผู้คนมุ่งมาซื้อขายทับทิมจนทำให้มีโรงแรมเกิดขึ้นมากมาย
นอกจากนี้ 90% ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างก็มีอาชีพค้าขายทับทิมทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จนเป็นที่เลื่องลือกันว่า ถ้าอาชีพโสเภณีเป็นอาชีพที่โบราณที่สุดของมนุษย์ อาชีพลักลอบค้าอัญมณีก็เป็นอาชีพที่โบราณเป็นอันดับสอง
สำหรับในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2446 ได้มีการขุดพบทับทิมเช่นกันที่จันทบุรี ตราด และที่อำเภอบ่อไร่ แต่ปัจจุบันทับทิมสยามใน บริเวณนี้ แทบจะไม่มีแล้ว ถึงกระนั้น 80% ของทับทิมที่ขุดได้จากทั่วโลก ทุกวันนี้จะถูกส่งเข้าในประเทศไทย เพื่อเพิ่มคุณค่าของมันให้ สูงขึ้น โดยการเผาหรือเจียระไนก่อนจะถูกส่งออกจำหน่ายเป็นเครื่องประดับต่อไป
ส่วนในทวีปแอฟริกา เช่น ในประเทศ Tanzania เกาะ Madagascar และประเทศ Kenya ก็มีการทำเหมืองทับทิมมากเช่นกัน
ตามปกติผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีมักมีเกณฑ์ประเมินคุณภาพของทับทิม โดยการพิจารณาความงาม คุณภาพและคุณค่า น้ำหนักสี ความอิ่มตัวสีและความใสสะอาดที่ปราศจากมลทิน เพราะสีแดงของทับทิมมีหลายรูปแบบ เช่น แดงเลือดนก แดงจงกลนี แดงทับทิม แดงดอกงิ้ว แดงพระอาทิตย์แรกขึ้น แดงดอกรัก แดงมะกล่ำตาหนู แดงดอกบัวบาน หรือแดงเต่าทอง เป็นต้น
ถึงแม้ระดับความแดงจะแตกต่างกันเช่นไร นักอัญมณีก็รู้ว่าสีแดงของทับทิมเกิดจากการมีสารเจือที่เป็นอะตอมธาตุ chromium ในแร่ กะรุน (corundum) และอาจมีอะตอมของธาตุอื่นๆ เช่น titanium, vanadium เหล็ก หรือ gallium ปนอยู่ด้วยก็ได้
ณ วันนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้พบวิทยาการด้านธรณีวิทยา อัญมณีวิทยา และเคมีสามารถตรวจสอบได้ว่า ทับทิมแต่ละเม็ดมีโครงสร้าง โมเลกุลอย่างไรหรือมีอายุเพียงใด และมีแหล่งกำเนิดที่ใด การล่วงรู้เช่นนี้จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสังเคราะห์มันได้ แต่ถึงแม้เรา จะสังเคราะห์ทับทิมได้ แต่คนทั่วไปก็ยังชอบทับทิมธรรมชาติมากกว่าทับทิมประดิษฐ์
ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่า Auguste Verneuil นักเคมีชาวฝรั่งเศสเป็นบุคคลแรกที่พบวิธีทำทับทิมสังเคราะห์ โดยได้เผาแร่ corundum จนกระทั่งมีอุณหภูมิสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส แล้วเติม chromium ลงไปเพื่อให้สีแดง จากนั้นเขาก็ปล่อยให้มันแข็งตัว เป็นผลึกทับทิม
ปัจจุบันนี้บริษัท H. Djevahirdjian S.A. ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือบริษัทที่ทำธุรกิจสังเคราะห์ทับทิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งได้ ทำสถิติสังเคราะห์ทับทิมที่หนักถึง 2,134 กะรัต และเมื่อเรารู้ว่าทับทิมหนาแน่นยิ่งกว่าเพชร เพราะ 1 กะรัตของทับทิมคือผลึกที่มีเส้น ผ่าศูนย์กลาง 0.6 เซนติเมตร เราก็รู้ว่าทับทิมสังเคราะห์เม็ดใหญ่ที่สุดในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวถึง 13 เมตร ส่วนทับทิม Mogok ซึ่งเป็นทับทิมธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดนั้น หนักเพียง 15.97 กะรัตเท่านั้นเอง แต่ก็มีมูลค่าถึง 180 ล้านบาททีเดียว
เมื่อความสามารถในการสังเคราะห์ทับทิมเพิ่มสูงขึ้นๆ เทคนิคการเจียระไนซึ่งจะทำให้มันมีรูปร่างและความสุกใสตามที่ต้องการก็มีมาก ขึ้น ทุกวันนี้ใครๆ ก็รู้ว่า ทับทิมแทบทุกเม็ดที่ซื้อขายกัน ต่างก็ผ่านการเผามาแล้วทั้งสิ้น และไม่เพียงแต่วงการไฮโซเท่านั้นที่นิยมใช้ทับทิม สังเคราะห์ แม้แต่วงการวิทยาศาสตร์ก็ได้นำแท่งทับทิมสังเคราะห์ มาใช้เป็นชิ้นส่วนในการผลิตแสงเลเซอร์ทำนาฬิกา และอุปกรณ์ผ่าตัด ด้วยเหมือนกัน
สำหรับการเก็บพิทักษ์รักษาทับทิม ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะว่า เพราะเหตุว่าทับทิมมีความแข็งน้อยกว่าเพชรและนิล ดังนั้น ในการเก็บทับทิม เจ้าของควรแยกอัญมณีต่างๆ จากทับทิม เพื่อไม่ให้มันขูดข่วนกัน ซึ่งจะทำให้ทับทิมมีมลทิน และเวลาทำความสะอาดก็ให้ใช้ไอน้ำ หรือ น้ำอุ่นที่มีสบู่อ่อนๆ ล้าง และไม่ควรล้างด้วยเครื่องจักร
และสำหรับคนที่คิดจะให้ของขวัญ หรือมรดกแก่คนรัก หรือคนที่ตนรักด้วยการซื้อรถ เสื้อผ้า บ้าน หรือหุ้นให้ ก็จะขอบอกว่า ภายใน 10 ปี มูลค่าของเหล่านี้จะตก แต่ถ้าเราให้ทับทิมหรือเพชร คุณค่าของมันมักจะไม่ลด หลานเหลนก็จะได้ใช้หรือจะขายต่อก็ยังได้